บทความ

รวมคำสอนของ ‘พ่อ‘ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แรงบันดาลใจ เรื่องการดำเนินชีวิต และการทำงาน

ตั้งแต่ทรงครองราชย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ‘ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ‘ ทรงมีพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสกับปวงชนชาวไทยนานัปการ ในการให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม และทรงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเราในทุกๆ ด้าน ซึ่งหากเราใส่ใจและสนใจนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเรา ทั้งด้านความคิดด้านการงาน ครอบครัว และการใช้ชีวิตแล้ว เชื่อแน่ว่าจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน

พระราชดำรัสของพระองค์ที่มอบให้แก่พวกเราชาวไทยในหลากหลายเรื่องนั้น ล้วนแล้วแต่มีคติสอนใจที่อยากให้ทุกคนนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุข ความสำเร็จ และความเจริญของเราเปรียบเสมือนเป็น ‘คำสอนของพ่อ’ ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่า

ต่อไปนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ได้ให้พระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเป็นคนดี การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม เชื่อว่าหลายๆ พระบรมราโชวาทที่พระองค์มอบให้นั้น พวกเราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่จะมีใครรู้ไหมว่าพระบรมราโชวาทนั้น เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อใด

● ขอน้อมนำพระบรมราโชวาท มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งพระบรมราโชวาทที่คัดเลือกมานี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และแก้ไขปัญหาการทำงานได้ด้วย ●

● การทำความดี…

‘การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี’ ●

พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร
๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๕

● ต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา…

‘การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้ง 
ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ’ ●

พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา 
๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓

● ความสามัคคี…

‘สามัคคีนี้ก็คือ การเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม…’ ●

พระราชดํารัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล 
๑๕ มกราคม ๒๕๑๙

● คนเราจะต้องรับและจะต้องให้…

‘คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่า ต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้’ ● 

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 
๒๐ เมษายน ๒๕๒๑

Message us